วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

องค์ประกอบของศิลป์

องค์ประกอบของศิลป์ Composition

เป็นองค์ประกอบที่ถูกกำหนดขึ้นโดยธรรมชาติ เป็นองค์ประกอบมูลฐานของความงาม ในการออกแบบจัดสวน จำเป็นต้องเข้าใจคุณค่า และมูลฐานที่สำคัญของความงาม สามารถนำไปใช้ให้เกิดความกลมกลืน องค์ประกอบของศิลป์ ประกอบด้วยจุด (point) เส้น (line) สี (colour) รูปร่างรูปทรง (shape and form) ลักษณะผิว (texture) ลวดลาย (pattern) และช่องว่าง (space or voloume)

1. จุด (point) จุดเป็นสิ่งแรกสุดของการเห็น โดยความรู้สึกของเราแล้ว จุดไม่มีความกว้าง ความยาว และความลึก เป็นสิ่งที่เล็กที่สุดไม่สามารถแบ่งแยกออกได้อีก ดังนั้นจุดจึงหยุดนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนไหว (static) ไม่มีทิศทางและเป็นศูนย์รวม (centrlized) จุดเป็นองค์ประกอบเริ่มแรกของรูปทรง จุดจึงเป็นตัวกำหนด

ปลายทั้งสองข้างของเส้น
จุดตัดของเส้นสองเส้น
วางบรรจบกันของเส้นที่มุมของแผ่นระนาบ หรือก้อนปริมาตร
ในธรรมชาติเราจะเห็นจุดกระจายซ้ำ ๆ อยู่ทั่วไปในที่ว่าง เช่น จุดที่สุกใสของกลุ่มดาวในท้องฟ้า ลายจุดในตัวสัตว์และพืชบางชนิด เมื่อเราอยู่ในที่สูง ๆ แล้วมองลงมายังกลุ่มคน จะเห็นเป็นจุดกระจายเคลื่อนไหวไปมา หรือรวมกลุ่มกัน ตัวจุดเองนั้น เกือบจะไม่มี ความสำคัญอะไรเลย เนื่องจาไม่มีรูปร่าง ไม่มีมิติ แต่เมื่อจุดนี้ ปรากฏตัวในที่ว่าง ก็จะทำให้ที่ว่างนั้น มีความหมายขึ้นมา ทันที เช่น ถ้าในที่ว่างนั้นมีจุดเพียงจุดเดียว ที่ว่างกับจุดจะมีปฏิกริยาผลักดันโต้ตอบซึ่งกันและกัน จุดที่อยู่กึ่งกลางบริเวณจะมั่นคง (stable) สงบ ไม่เคลื่อนที่ และเป็นสิ่งสำคัญโดดเด่น แต่เมื่อจุดถูกย้ายออกจากกึ่งกลาง บริเวณรอบๆ จะดูแกร่งขึ้น และเริ่มแย่งกัน เป็นจุดเด่น ของสายตา แรงดึงสายตาจะเกิดขึ้นระหว่างจุดกับบริเวณรอบ ๆ
ส่วนจุดที่รวมกันหนาแน่น เป็นกลุ่ม เส้นรูปนอก หรือเส้นโครงสร้างของกลุ่มจะปรากฏให้เห็นในจินตนาการ และจุดที่ซ้ำ ๆ กันในจังหวะต่าง ๆ จะให้แบบรูป (pattern) ของจังหวะที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไม่จำกัด

2. เส้น (line) เส้นเป็นพื้นฐานของโครงสร้างของทุกสิ่งในจักรวาล เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการออกแบบ สิ่งต่าง ๆ ล้วนเกิดจากเส้นประกอบเข้าด้วยกัน ความหมายของคำว่าเส้นคือ

เส้นเกิดจากจุดที่ต่อกันในทางยาว
เส้นเป็นขอบเขตของที่ว่าง ขอบเขตของสิ่งของ ขอบเขตของรูปทรง ขอบเขตของน้ำหนักและขอบเขตของสี
เส้นเป็นขอบเขตของกลุม สิ่งของ หรือรูปทรงที่รวมกันอยู่ เป็นเส้นโครงสร้างที่เห็นได้ด้วยจินตนาการ
คุณลักษณะของเส้น เส้นมีมิติเดียว คือความยาว เส้นขั้นต้นที่เป็นพื้นฐานมี 2 ลักษณะ คือเส้นตรง กับเส้นโค้ง เส้นทุกชนิด สามารถ แยกออกเป็น เส้นตรงกับเส้นโค้งได้ทั้งสิ้น เส้นลักษณะอื่น ๆ ซึ่งเราเรียกว่า เส้นขั้นที่ 2 เกิดจากการประกอบกัน เข้าของเส้นตรง และ/หรือเส้นโค้ง เช่น เส้นฟันปลา เกิดจากเส้นตรงมาประกอบกัน และเส้นโค้ง ที่ประกอบกันหลาย ๆ เส้น ก็จะได้เส้นลูกคลื่น หรือ เส้นเกล็ดปลา เป็นต้น นอกจากนี้เส้นยังมีทิศทางของเส้น ได้แก่ แนวราบ แนวดิ่ง แนวเฉียงเป็นต้น ส่วนขนาดของเส้น เส้นไม่มีความกว้าง จะมีแต่เส้นบาง เส้นหนา เส้นเล็ก เส้นใหญ่ ความหนาของเส้นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับความยาว หากเส้นสั้น และมีความหนามาก ก็จะหมดคุณลักษณะของความเป็นเส้นกลายเป็นรูปร่าง (shape) สี่เหลี่ยมผืนผ้า

ความรู้สึกที่เกิดจากลักษณะของเส้น

เส้นตรง ให้ความรู้สึกแข็งแรง แน่นอน ตรง เข้ม ไม่ประนีประนอม และเอาชนะ
เส้นโค้งน้อย หรือเส้นเป็นคลื่นน้อย ๆ ให้ความรู้สึกสบาย เปลี่ยนแปลงได้ เลื่อนไหลต่อเนื่อง มีความกลมกลืน ในการเปลี่ยนทิศทาง ความเคลื่อนไหวช้า ๆ สุภาพ นุ่ม อิ่มเอิบ แต่ถ้าใช้เส้นลักษณะนี้มากเกินไป จะให้ความรู้สึกกังวล เรื่อยเฉื่อย ขาดจุดหมาย
เส้นโค้งวงแคบ เปลี่ยนทิศทางรวดเร็ว มีพลังเคลื่อนไหรุนแรง
เส้นโค้งของวงกลม การเปลี่ยนทิศทางที่ตายตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ให้ความรู้สึกเป็นเรื่องซ้ำ ๆ เป็นเส้นโค้ง ที่มีระเบียบ มากที่สุด แต่จืดชืดไม่น่าสนใจ เพราะขาดความเปลี่ยนแปลง
เส้นโค้งก้นหอย ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวคลี่คลาย เติบโต เมื่อมองจาก ภายในออกมา และถ้ามองจากภายนอกเข้าไป จะให้ความรู้สึกที่ไม่สิ้นสุดของ พลังเคลื่อนไหว
เส้นฟันปลาหรือเส้นคดที่หักเหโดยกะทันหัน เปลี่ยนทิศทางรวดเร็วมาก ทำให้ประสาทกระตุก ให้จังหวะกระแทก รู้สึกถึงกิจกรรมที่ขัดแย้งและความรุนแรง
ความหมายของเส้น

ความรู้สึกที่เกิดจากทิศทางของเส้น

เส้นทุกเส้นมีทิศทาง คือ ทางตั้ง ทางนอน และทางเฉียง ในแต่ละทิศทางจะให้ความรู้สึกต่างกัน

1. เส้นตั้ง ให้ความรู้สึกมั่นคง แข็งแรง พุ่งขึ้น จริงจัง เงียบขรึม และให้ความสมดุล เป็นสัญลักษณ์ของความถูกต้อง ซื่อสัตย์ มีความสมบูรณ์ในตัว สง่า ทะเยอทะยาน และรุ่งเรือง
2. เส้นนอน ให้ความรู้สึกพักผ่อน ผ่อนคลา เงียบ เฉย สงบ
3. เส้นเฉียง เป็นเส้นที่อยู่ระหว่างเส้นตั้งกับเส้นนอน ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว ไม่มั่นคง ไม่สมบูรณ์ ต้องการเส้นเฉียงอีกเส้นหนึ่งมาช่วยให้มั่นคงสมดุลในรูปของมุมฉาก
4. เส้นที่เฉียงและโค้ง ให้ความรู้สึกที่ขาดระเบียบตามยถากรรม ให้ความรู้สึกพุ่งเข้าหรือพุ่งออกจากที่ว่าง

ไม่มีความคิดเห็น: