วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

หลักการออกแบบและองค์ประกอบของศิลป์

การจัดสวนเป็นศิลป์ที่เกิดจากการนำเอาองค์ประกอบทั้งที่เป็นธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาผสมผสาน เพื่อให้เกิด สภาพแวดล้อม ที่ดีให้ตอบสนองต่อพฤติกรรมของมนุษย์ รวมทั้งสัมพันธ์กับตัวอาคารและสิ่งก่อสร้างทุกชนิด
การศึกษา เกี่ยวกับ องค์ประกอบของศิลป์ นั้น จำเป็นจะต้องมี ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับ ศิลป์ โดยทั่วไปเป็นพื้นฐานก่อน จะต้องรู้ว่าศิลป์คืออะไร มีความหมายอย่างไร

ความหมายของศิลป์ (Art)

คำว่าศิลป์ มีความหายและขอบเขตกว้างขวางมาก นักปราชญ์ในแต่ละยุคแต่ละสมัยจะให้ความหมายของศิลป์แตกต่างกันไป จนดูเสมือนว่าศิลป์เป็นสิ่งที่เราไม่อาจจับความหมายที่แท้จริงได้ แต่ความเป็นจริงจะพบว่าศิลป์เป็นเกือบทุกสิ่งที่ทุกคนกล่าวไว้ โดยคนหนึ่งเน้นความเห็นของตนหนักไปแง่หนึ่ง อีกคนหนึ่งก็จะเน้นไปอีกแง่หนึ่ง เป็นการมองของสิ่งเดียวกันในแง่มุมต่างกัน เช่น
ศิลป์คือการเลียนแบบ
ศิลป์คือการเป็นตัวแทน (ของชีวิต)
ศิลป์คือการแสดงออก
ศิลป์ไม่ใช่การเลียนแบบธรรมชาติ
ธรรมชาติเลียนแบบศิลป์
ศิลป์คือรูปทรง
ศิลป์คือความสมปรารถนา
ศิลป์คือประสบการณ์
ศิลป์คือการเห็นแจ้ง

จากทัศนะของนักปราชญ์ทั้งหลาย ศิลป์มีคุณลักษณะที่เป็นตัวร่วมสำคัญอยู่ประการหนึ่ง คือ การแสดงออก เพราะไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ประสบการณ์ ความงาม ความเห็นแจ้ง สัญลักษณ์ เรื่องราว หรือเหตุการณ์ ล้วนแต่แสดงออกโดยผ่าน ทางรูปทรง ที่ศิลปินเลอกสรร หรือสร้างสรรค์ขึ้นทั้งสิ้น ดังนั้นความหมายของศิลป์ในแนวกว้าง ๆ ก็คือสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อแสดงออกซึ่ง อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด และ/หรือความงาม

การแบ่งประเภทของศิลป์

1. วิจิตรศิลป (Fine Art) เป็นศิลป์ที่ตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจ อารมณ์ เพื่อความสุขทางใจ มีคุณค่าทางสุนทรียภาพ แบ่งออกเป็น

ทัศนศิลป์ (Visual Arts) คืองานที่มองเห็นความงามจาก รูปลักษณะ รับสัมผัสทางตา ได้แก่จิตรกรรม (paintings) ประติมากรรม (sculpture) ภาพพิมพ์ (graphic design) หัตถกรรม (crafts) และสถาปัตยกรรม (architecture)

โสตศิลป์ (Aural Arts หรือ Audio Arts) คืองานศิลป์ที่รับรู้ความงามได้จากการฟังและการอ่าน รับสัมผัสทางหู ได้แก่ ดนตรี วรรณกรรม

โสตทัศนศิลป์ (Audio Visual Arts) คือ ศิลป์เกี่ยวกับการแสดง มีการมองเห็นพร้อมกับได้ยินเสียง รับสัมผัสได้ทางตาและหู ได้แก่ นาฎกรรม ภาพยนตร์ โทรทัศน์
2. ประยุกต์ิศิลป์ (Applied Arts) เป็นงานศิลป์ที่ไม่ได้เน้นเฉพาะแต่ทางสุนทรียภาพเท่านั้น แต่ได้ประยุกต์ให้ตอบสนอง ความต้องการของมนุษย์ทางด้านประโยชน์ ใช้สอยด้วย แบ่งออกเป็น

สถาปัตยกรรม (Architecture) คือ การออกแบบก่อสร้าง ซึ่งสนองความต้องการทางด้านที่พักอาศัย ประโยชน์ใช้สอยทั้ง ภายในและภายนอกเป็นการนำความรู้ทางด้านต่าง ๆ มากมายมาประกอบกัน สถาปัตยกรรม ในกลุ่มประยุกต์ศิลป์ นี้แตกต่างจากใน กลุ่มวิจิตรศิลป์ เพราะสถาปัตยกรรมประยุกต์ศิลป์ จะนำเอาความเจริญทางด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี เข้ามาผสม ทำให้เกิดความรวดเร็วในการผลิตในลักษณะ mass product ซึ่งเหมือนกันจำนวนมาก เช่น บ้านจัดสรร เป็นต้น ในส่วนสถาปัตยกรรมยังแบ่งออกเป็น
สถาปัตยกรรม (architecture) คือ การออกแบบอาคารชนิดต่าง ๆ เช่น อาคารที่พักอาศัย อาคารสาธารณะต่าง ๆ
ภูมิสถาปัตยกรรม (landscape architecture) คือการนำเอานิเวศวิทยา (ecology) มาสู่การออกแบบสภาพแวดล้อม (environmental design) เป็นการนำเอา องค์ประกอบ ทั้งที่เป็น ธรรมชาติและ มนุษย์สร้างขึ้น มาผสมผสาน ให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี ให้ตอบสนองต่อพฤติกรรมของมนุษย์ โดยสัมพันธ์กับตัวอาคารและสิ่งก่อสร้างทุกชนิด
ผังเมือง (city planning) คือการจัดผังเมืองในทุก ๆ ด้าน เช่น ที่พักอาศัย คมนาคม การศึกษา อุตสาหกรรม ฯลฯ การวางผังเมือง ไม่ใช่เฉพาะการจัดเมืองใหม่เท่านั้น แต่จะเป็นการวางแผนปรับปรุงเมืองเก่าแก้ปัญหาเดิม เพื่อยกสภาพ ความเป็นอยู่ของประชากรด้วย

ศิลปอุตสาหกรรม (industrial design) เป็นศิลป์ที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน สนองความต้องการ ในด้านความสุขสบาย เป็นการคิดค้นกรรมวิธีที่จะทำให้ผลผลิตที่มีประโยชน์ใช้สอย เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ ของขวัญ ของชำร่วย เป็นต้น วิวัฒนาการชนิดนี้ ขึ้นอยู่กับ ความก้าวหน้าทางด้าน เทคโนโลยีของเครื่องจักร รวมทั้งสัมพันธ์กับ แนวโน้มทางด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย

มัณฑนศิลป์ (decorative art) คือศิลป์ที่เกี่ยวกับการตกแต่ง หรือเรียกว่า "ศิลป์การตกแต่ง" ซึ่งเน้นไปทางการตกแต่งบ้าน หรือห้องต่าง ๆ เช่น ห้องนอน ห้องรบแขก และห้องอื่น ๆ ภายในบ้าน

ศิลป์หัตถกรรม (art artcrafts) คือ ศิลป์ที่ทำด้วยมือเป็นส่วนใหญ่ งานที่ทำจึงต่างกันตามความพอใจของผู้ทำ เช่น การทำโต๊ะ เก้าอี้ หรือปั้นหม้อ โอ่ง ไห ออกมาเหมือน ๆ กัน โดยไม่ใช้เครื่องจักรทำงาน แต่อาจใช้เครื่องทุ่นแรงช่วยบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น: